อันนี้เป็นบทความเก่าจากบล็อกเดิมที่ผมเคยเขียนไว้แล้วมันพังไป น่าเสียดายหลายบทความมาก โดยผมได้เคยเขียนไว้จากสิ่งที่ตัวเองคิดว่า เราต้องพร้อมตายทุกเวลา เพราะสิ่งไหนเกิดมาแล้วยอมดับลง... และผมได้ทำการ rewrite ใหม่อีกครั้งเพื่อให้อัพเดทกับแนวความรู้ที่เพิ่มเติม


ยาวไปไม่อ่าน

  • (1) รักษาสุขภาพเริ่มต้นง่ายสุด และประหยัดสุด
  • (2) ใช้ และบริหารเงินให้เป็น
  • (3) ทำหลักประกันเพิ่มโดยการซื้อประกันต่างๆ ที่ตรงกับเป้าหมายตัวเอง

บทความเก่าเขียนขึ้นในวันที่ 05 มีนาคม 2560

ผมได้ศึกษาแนวทางของพุทธศาสนามาสักระยะ ทำให้รู้ว่าหลักการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยผมมีหลักคิดการใช้ชีวิตที่ว่า

จะใช้ชีวิตยังไงให้ไม่เดือดร้อนตัวเอง และเดือนร้อนผู้อื่น

พระสูตรเต็ม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่น อย่างไร?ที่ชื่อว่า รักษาผู้อื่น ด้วยการส้องเสพ ด้วยการเจริญ ด้วยการกระทำให้มากบุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่า รักษาผู้อื่น อย่างนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างไรที่ชื่อว่า รักษาตน ด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยความมีจิตประกอบด้วยเมตตา ด้วยความ เอ็นดู บุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตนอย่างนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอพึงเสพสติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาตนพึงเสพ สติปัฏฐานด้วยคิดว่า เราจักรักษาผู้อื่นบุคคลผู้รักษาตน ย่อมชื่อว่ารักษาผู้อื่นบุคคลผู้รักษาผู้อื่น ย่อมชื่อว่ารักษาตน.

เป็นคนแก่ที่ไม่เดือดร้อนผู้อื่น

นั้นคือเป้าหมายในการใช้ชีวิตของผม หรือผมอาจจะตายก่อนที่จะได้แก่ก็ไม่แน่ ฮาๆ

ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้ทั่วไปว่าเมื่อคนเราแก่ชราแล้วมักจะต้องพึ่งผู้อื่นเสมอ เช่น พึ่งพี่น้องให้เลี้ยงดู พึ่งหมอให้รักษา พึ่งรัฐบาล เป็นต้น ผมมีความคิดว่าเราควรจะพึ่งพาตนเองก่อนเสมอ ถ้าไม่ไหวจริงๆ ค่อยไปพึ่งพาคนอื่น

และคนเราทุกคนนั้นมีความตายเป็นเบื้องหน้า ทำให้ผมมีความคิดที่จะทำยังไงให้เราเตรียมตัวตายได้ตลอดเวลา โดยที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นมา เราจะได้ไม่ต้องห่วงหน้า หรือกังวลหลัง ทำให้เราตายไม่สงบอีก

ผมเลยอยากแชร์วิธีการที่ผมกำลังทำอยู่ว่า ผมมีวิธีการเตรียมความพร้อมรอความตายยังไง ผมไม่ได้จะบอกว่าวิธีของผมนั้นดีที่สุด ทุกคนที่หลงเข้ามาอ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสบาย

1. สุขภาพ

เริ่มต้นด้วยการรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานที่ผมสามารถได้ และใช้งบประมาณน้อยที่สุด โดยแบ่งเป็นสามส่วนดังนี้

ออกกำลังกาย

ผมจะออกกำลังกายเป็นประจำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยกิจกรรมที่บ่อยๆ ก็คือ ว่ายน้ำ และตีแบต ซึ่งการว่ายน้ำผมถือว่าเป็นกีฬาที่ทำให้ร่างกายเราบาดเจ็บน้อยที่สุด และเหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย โดยโยคะก็เป็นอีกกิจกรรมที่กำลังจะเริ่มทำอย่างจริงจัง แต่ก็ไม่ได้เริ่มสักที ฮาๆ

Update: ผมเปลี่ยนมา Fitness แทนแล้วตั้งแต่ปี 2561

ฝึกสมาธิ

ประโยชน์การทำสมาธิไม่ต้องพูดถึง คุณสามารถค้นหาได้จาก google ได้เลย ในปีก่อนๆ ผมไม่ค่อยทำสมาธิสักเท่าไร แต่ในปีนี้ผมได้เริ่มนั่งสมาธิทุกเช้า และก่อนนอนเป็นเวลา 10 นาที โดยเริ่มทำตั่งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ผลออกมาทำสำเร็จไป 75% ของเดือน ซึ่งเป้าหมายระยะสั้นของการนั่งสมาธิก็คือ 66 วัน โดยมีแอพ habitbull ช่วยบันทึก


โดยใข้วิธีการนั่งสมาธิง่ายๆ ตามแบบพระพุทธเจ้า

กินอาหาร

การกินอาหารถือว่าสำคัญ เพราะเป็นช่องทางที่เราสามารถนำโรคต่างๆ เข้ามาได้ และถ้ากินผิดชีวิตอาจเปลี่ยนได้เลย ซึ่งหากใครมีเป้าหมายว่า "ผอมและสุขภาพดี” ผมมีหลักง่ายๆ ในการกินดังนี้

  • งดเหล้างดเบียร์ กินเป็นบ้างครั้ง
  • งดอาหารเค็ม หวาน มัน ปิ้ง ย่าง ทอดกินผักให้เยอะขึ้นในแต่ละมื้อ
  • ไม่เสียเวลานับแคลอลี่ของมื้ออาหาร ให้มุ่งเน้นไปเรื่องสารอาหารที่จะได้รับ เช่น วันนี้ออกำลังกายหนักๆ ก็กินโปรตีนเยอะหน่อย เป็นต้น
  • ไม่ควรกินอาหารจนอิ่มเกินไป เพราะจะทำให้กระเพาะทำงานหนักเกินไปทำให้เสียสุขภาพ ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ “กิน หลับ ขยับตัว” เพิ่มเติม

Update: ผมได้หันมาเป็นมังสวิรัติ (Vegetarian) เต็มตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 และทำอาหารกินเองแทบจะทุกมื้อ อนาคตอาจมุงไปยังวีแกน (Vegan) ก็เป็นได้

ตรวจสุขภาพทุกปี

จงไปตรวจสุขภาพประจำปีซะ... มันทำให้เรารู้จักร่างกายเรามากขึ้นในแต่ละปี ว่าสิ่งทำมานั้นดีขึ้น หรือแย่ลง เราจะได้ดูแลรักษาร่างกายของเราได้อย่างถูกต้อง

2. การเงิน

"เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่เกือบทุกอย่างในชีวิตซื้อได้ด้วยเงิน”

ผมถือว่าเป็นประโยคเด็ดของเรื่องเงินเลย เพราะสุดท้ายขนาดตายไปแล้วยังต้องใช้เงินทำศพเลย

ฉะนั้นทุกช่วงชีวิตตั้งแต่เกิดมานั้นเกี่ยวข้องกับเงินทั้งสิ้น เราจะบริหารเงินยังไง ไม่ให้เดือนร้อนตัวเองและเดือนร้อนผู้อื่น ผมมีวิธีดังนี้

ทำบัญชีส่วนตัว

ผมจะทำเป็นตารางแบ่งเป็นสามส่วนคือ

  • รายจ่ายคงที่ เช่น ให้พ่อแม่, ค่าโทรศัพท์, ค่าประกัน เป็นต้น
    Update: ในปี 2562 ผมมีค่าผ่อนบ้านเข้ามาเพิ่ม
  • รายจ่ายไม่คงที่ เช่น ค่าไฟ, ค่าน้ำมันรถ, ค่าออกกำลังกาย , ค่าซื้อของเข้าบ้าน, ค่ากินแต่ละวัน เป็นต้น รายจ่ายไม่คงที่นั้นผมจะประเมิณเอาว่าเราจะต้องสำรองไว้เท่าไร เช่น ออกกำลังกายผมคิดว่าจะใช้ประมาณ 1,200 ต่อเดือน ก็จะดึงเงินมาเก็บไว้เลย 1,200 ตอนต้นเดือนเพื่อจ่ายตอนออกกำลังกาย ซึ่งเงินในส่วนของรายจ่ายไม่คงที่จะหมุนขึ้นลงตลอด แต่จะไม่มากจนเกินไปเพื่อไม่ให้กระทบเงินส่วนอื่น
  • เงินออมและลงทุน เช่น rml, กองทุนรวม, เงินสำรองฉุกเฉิน เป็นต้น ส่วนของเงินออม และลงทุนนั้นผมใช้วิธีแบบ DCA (Dollar cost average) คือลงในกองทุนรวมทุกเดือน โดยในทุกๆ ต้นปีผมจะหากองทุนที่เหมาะสม และคำนวณภาษีคราวๆ ที่จะเสีย จากนั้นก็หา RMF หรือ LTF ลงทุนเพื่อลดภาษีจากนั้นแยกบัญชีตามความเหมาะสม อย่าเอาไปกระจุกอยู่บัญชีเดียวไม่งั้นจะสับสนได้ ทุกๆ ต้นเดือนผมจะย้ายเงินไปบัญชีต่างๆ ที่ผมเตรียมไว้ ปัจจุบันมี 4 บัญชีเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายตนเอง

ออมเงิน

ออมเงินให้ได้ประมาณ 30% ทุกเดือน ตอนนี้ผมทำได้ 28% ผมนำเงินออมนี้ไปลงทุนใน RMF และกองทุนรวมอื่นๆ ตามความเหมาะสม

Update: เนื่องจากมีค่าผ่อนบ้านเข้ามาทำให้ผมออมได้น้อยลงเยอะ T.T

ทำบัญชีฉุกเฉิน

บัญชีนี้มีไว้เพื่อว่าไม่มีงานทำ หรือหารายได้ไม่ได้ ห้ามนำออกมาใช้ถ้าไม่ฉุกเฉินจริงๆ ถ้าถามว่าต้องเก็บเท่าไรให้คิดแบบนี้

รายจ่ายทั้งหมดแต่ละเดือน คูณ 6 เดือน = เงินในบัญชีฉุกเฉิน

หมายความว่าผมจะอยู่ได้ในหกเดือนหลังจากไม่มีรายได้เลย ซึ่งผมมองว่าภายในหกเดือนผมน่าจะหาอะไรทำให้มันเกิดรายได้บ้างละ ถ้าไม่มีจริงๆ ก็คงขโมยข้าวหมากินละกัน ฮาๆ

Update: สามารถสำรองได้มากกว่า 6 เดือนนะ ยิ่งสถานการณ์โควิดตอนนี้ด้วย สำรองจำนวน 12 เดือนได้เลยยิ่งดี

ทำบัญชีสำรองเงินสด

บัญชีนี้ทำไว้เพื่อกรณีไปกินเหล้า หรือไปเที่ยว หรือจ่ายค่าอะไรก็ตามแต่ที่มันจะเกิดขึ้นมากระทันหันแล้วต้องใช้เงินสดทันที ผมจะกดเงินจากบัญชีนี้ออกมาก่อนเสมอ จากนั้นต้องหาเงินมาคืนบัญชีนี้ทันที ผมถือว่าบัญชีนี้เป็นบัญชีเจ้าหนี้ของผม ยกตัวอย่าง

สมมติบัญชีนี้มีเงิน 1,000 บาท ผมดันไปกินเหล้าแล้วเกินงบที่ตั้งไว้ (เป็นประจำ ฮาๆ) ผมก็จะหยิบเงินในบัญชีนี้มาจ่าย จากนั้นผมต้องหาเงินมาคืนบัญชีนี้ให้ครบ 1,000 บาทเสมอ

ทำบัตรเครดิต

บัตรเครดิตทำให้ขีวิตเราสบายขึ้นจริงๆ รูดๆ อย่างเดียวไม่ต้องพกเงินสด แต่ถ้าใช้เพลินก็กลายเป็นหนี้ได้นะจ๊ะ ฉะนั้นหลักการของผมก็คือ

จะใช้บัตรซื้อสินค้า หรือบริการอะไรก็ตามที่คิดว่ามีเงินสดไปจ่ายทุกสิ้นเดือน

นั้นก็คือทุกสิ้นเดือนผมจะจ่ายหนี้บัตรเครดิตให้ครบทุกบาททุกสตางค์ตลอด เพราะดอกเบี้ยบัตรเครดิตโหดมาก แต่ประโยชน์ของบัตรเครดิตก็คือ ไม่ต้องมีเงินสด, ผ่อนสินค้า 0% และเอาแต้มสะสมแลกอย่างอื่นได้อีก และถ้าเราจ่ายครบทุกเดือนมันจะทำให้เรากลายเป็นคน เครดิตดี ทันทีในสายตาของธนาคาร เวลาเราจะกู้อะไรจากธนาคารก็จะง่ายขึ้น

เรื่องการเงินพระพุทธเจ้าก็ได้สอนไว้ ผมขอตัดพระสูตรสั้นๆ มาให้อ่าน

พ๎ยัคฆปัชชะ ! สมชีวิตา เป็นอย่างไรเล่า ?พ๎ยัคฆปัชชะ ! กุลบุตรในกรณีนี้ รู้จักความได้มาแห่งโภคทรัพย์ รู้จักความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์แล้วดำรงชีวิตอยู่อย่างสม่ำเสมอ ไม่ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ฝืดเคืองนัก โดยมีหลักว่า “รายได้ของเราจักท่วมรายจ่าย และ รายจ่ายของเราจักไม่ท่วมรายรับ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้.

3. ทำหลักประกัน

เมื่อเราบริหารเงินแล้ว เราก็นำเงินมาซื้อหลักประกันเพิ่มในการใช้ชีวิตดีกว่า เพราะทุกสิ้นทุกอย่างล้วนอนิจัง ฉะนั้นเราต้องวางแผนไว้ก่อนเพื่อลดค่าใช้จ่ายในภายหลังได้ และยังทำให้เราไม่ต้องเดือนร้อนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

ซื้อประกันอุบัติเหตุ

ผมขับมอไซต์ประจำ ฉะนั้นเสี่ยงโครตๆ เพราะมันคือหนังหุ้มเหล็ก ยิ่งขับในกรุงเทพด้วยจะตายตอนไหนยังไม่รู้เลย แต่ที่ยังขับอยู่เพราะมันทำเวลาได้เร็ว และผมชอบขับมอไซต์มากกว่ารถยนต์ ฉะนั้นผมเลยซื้อประกันอุบัติเหตุเอาไว้ด้วย

ซื้อประกันชีวิต

ประกันชีวิตมีหลายรูปแบบมาก ผมอ่านแล้วก็สับสนโครตๆ แต่ประกันชีวิตที่ผมซื้อไว้ก็คือ ชำระเบี้ยทุกปีเป็นเวลา 20 ปี และจะได้เงินคืนตอนอายุ 90 ปี หรือหากตายก่อน 90 ปีจะได้เงินคืนมา ผมเลือกประกันแบบนี้เพราะผมคิดง่ายๆ หากตายแล้วก็ต้องจัดงานศพ ฉะนั้นจัดงานศพก็ต้องใช้เงิน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เดือนร้อนเงินคนอื่นมาจัดงานศพ ก็ต้องใช้เงินตัวเองเนี้ยเละ คิดดูขนาดตายไปแล้วถ้าไม่วางแผนดีๆ ยังทำให้คนอื่นเดือดร้อนอีก

ซื้อประกันสุขภาพ

จากใจเลยว่า การซื้อประกันสุขภาพไม่เคยอยู่หัวเลย "เพราะคิดว่าตัวเองสามารถดูแลสุขภาพได้ดีมาตลอด สู่เอาเงินที่จ่ายประกันสุขภาพมาจ่ายค่าออกกำลังกาย ค่าอาหารที่มีประโชยน์ จะดีกว่า” นี่คือความคิดเมื่อปีก่อนๆ แต่มาปีนี้เพื่อความไม่ประมาณตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ผมควรจะซื้อประกันสุขภาพไว้สักตัว เพราะถ้าทำตอนสุขภาพแข็งแรง เบี้ยจะถูก แต่ก็ยังไม่ได้ซื้อกำลังหาข้อมูลที่จะซื้ออยู่...

Update: ได้ประกันสุขภาพมาจากบริษัททำให้ไม่ต้องไปเสียเอง

เขียนพินัยกรรม

จริงๆ ทรัพย์สินผมก็ไม่ได้มีอะไรเยอะหรอก แต่จะเขียนพินัยกรรมไว้เพื่อประโยชน์ผู้อื่นมากกว่า ซึ่งหลังจากผมตายแล้วทรัพย์สินของผมต่างๆ จะไปให้ใครยังไง เราก็ควรจะเป็นคนกำหนดเอง ดีกว่าให้ญาติพี่น้องมาแย่งกัน ฮาๆ พูดเหมือนรวยเลย แต่อันนี้ยังไม่เริ่มต้นเขียนนะกำลังศึกษาหาวิธีการเขียนอยู่ แต่ต้องรีบเขียนเพราะไม่แน่พรุ่งนี้ผมอาจจะตายเลยก็ได้...

ทั้งหมดสามหลักการก็มีประมาณนี้ ซึ่งใครจะนำไปใช้ก็ไม่ว่าอะไร หากใครอ่านแล้วคิดว่าผมยังควรต้องทำอะไรเพิ่มก็เสนอมาได้นะครับ สุดท้ายผมอยากให้ทุกท่านมีสติ มีสัมปชัญญะ รอคอยการตาย

ภิกษุ ท. !ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติ มีสัมปชัญญะเมื่อรอคอยการทำกาละ :นี้เป็นอนุสาสนีของเรา สำหรับพวกเธอทั้งหลาย.ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้มีสติ เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลสมีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ ; เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ... ; เป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ... ;เป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำมีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.อย่างนี้แล ภิกษุ ท. ! เรียกว่า ภิกษุเป็นผู้มีสติ.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ เป็นผู้มีสัมปชัญญะ เป็นอย่างไรเล่า ?ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้รู้ตัวรอบคอบในการก้าวไปข้างหน้า การถอยกลับไปข้างหลัง,การแลดู การเหลียวดู, การคู้ การเหยียด, การทรงสังฆาฏิ บาตร จีวร, การฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม,การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ, การไป การหยุด, การนั่งการนอน, การหลับ การตื่น, การพูด การนิ่ง.อย่างนี้แล ภิกษุ ท. ! เรียกว่าภิกษุเป็นผู้มีสัมปชัญญะ.ภิกษุ ท. !ภิกษุพึงเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะเมื่อรอคอยการทำกาละ :นี้แล เป็นอนุสาสนีของเราสำหรับพวกเธอทั้งหลาย