ธรรมะสำหรับผู้ป่วย
"เจ็บไข้ได้ป่วย" คำๆ นี้เราจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าเจอกับตัวเอง หรือคนรอบข้างก็ดี เพราะทุกคนไม่สามารถหนีจากการเป็นโรคต่างๆ ได้ แต่เราทุกคนสามารถที่จะลดความเจ็บป่วย หรือป้องกันไม่ให้เกิดได้
ในทางกายผมว่าทุกคนก็คงรู้อยู่แล้วว่า กินอาหารให้ถูกหลัก กินให้ได้แร่ธาตุ และวิตามินครบ และออกกำลังกายเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายของเราแข็งแรง และสามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้ หรือแม้แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ก็จะลดแรงกระแทกของมันลงได้ถ้าเราออกกำลังกายเป็นประจำ
แต่ในทางใจ ผมจะพบเจอบ่อยที่พอกายเราเริ่มป่วยแล้ว ใจก็ป่วยตาม และเมื่อใจเริ่มป่วยตามเมื่อไร กายเราก็จะหายจากการป่วยนั้นยากขึ้น ซึ่งในบ้างคนหากป่วยเป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้ใจเขานั้นฟุ้งซ่านได้
ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำวิธีรักษาใจเราเมื่อในตอนที่เราป่วยว่าเราจะดูจิตเรายังไงดีตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน ให้เราพิจารณาดังนี้
- เป็นผู้พิจารณา เห็นความไม่งามในกายอยู่เป็นประจำ
- เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความเป็นปฏิกูลในอาหารอยู่เป็นประจำ
- เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวงอยู่เป็นประจำ
- เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เป็นประจำ
- มีสติอันตนเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในกาย แล้วเห็นการเกิดดับ ในภายใน
ซึ่งหากใครเป็นผู้ป่วยที่ต้องนอนเตียง เพื่อพักฟื้น หรือรอระยะเวลาการรักษา แล้วไม่มีอะไรทำ ผมแนะนำให้ลองพิจารณาตามด้านบน เพื่อให้รู้ถึงความไม่เที่ยง รู้ถึงความเป็นโทษของสิ่งต่างๆ แล้วลองฝึกสมาธิตามแบบพระพุทธเจ้าเสริมเข้าไป
จะทำให้จิตเราไม่ฟุ้งซ่าน ทำให้จิตเรามีสติเพื่อพร้อมรับการรักษาต่างๆ และมันยังมีผลทำให้คนรอบข้างรับรู้ได้ถึงว่าตัวเราสู้นะ ทำให้บรรยากาศรอบๆ นั้นดีขึ้นตามไปด้วย
ลองคิดภาพตามดูนะครับ ถ้าผู้ป่วยในโรงพยาบาลทุกคน ฝึกสติ และพิจารณาตามด้านบน บรรยายกาศในโรงบาลต้องดีขึ้นแน่ๆ หมอและพยาบาลน่าจะทำงานง่ายขึ้นด้วย
พระสูตรเต็ม
ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรม ๕ อย่าง,
เธอพึงหวังผลอันนี้ได้ คือเธอจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย.
ธรรม ๕ อย่างอะไรบ้างเล่า ? ๕ อย่างคือ :-
(๑) เป็นผู้พิจารณา เห็นความไม่งามในกายอยู่เป็นประจำ;
(๒) เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความเป็นปฏิกูลในอาหารอยู่เป็นประจำ;
(๓) เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความไม่น่ายินดีในโลกทั้งปวงอยู่เป็นประจำ;
(๔) เป็นผู้ที่มีการกำหนดหมาย ความไม่เที่ยงในสังขารทั้งปวงอยู่เป็นประจำ;
(๕) มีสติอันตนเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในกาย แล้วเห็นการเกิดดับ ในภายใน.
- - -
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไข้ผู้มีกำลังน้อยรูปใด ไม่ละจากธรรม ๕ อย่างเหล่านี้,
เธอพึงหวังผลอันนี้ได้ คือเธอจักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงแล้วแลอยู่ ต่อกาลไม่นานเลย.
.
.
บาลี ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๖๐/๑๒๑.
Comments ()