วิธีการนั่งสมาธิง่ายๆ ตามแบบพระพุทธเจ้า
วิธีการนั่งสมาธินั้นจริงๆ แล้วปฎิบัติเองได้ง่ายมาก ถ้าเราทำตามสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ซึ่งทุกครั้งที่ผมจะนั่งสมาธิ หรือทำสมาธิกับสิ่งๆ ใด ผมก็จะใช้แนวทางของพระพุทธเจ้าเป็นตัวนำทางเสมอ
การนั่งสมาธิ หรือเรียกอีกอย่างว่า "การเจริญอานาปานสติ" นั้นเป็นวิธีการพัฒนาสติ สมาธิ และปัญญาด้วยการกำหนดลมหายใจเข้า และออก ซึ่งมันทำให้เราได้รับรู้ถึงปัจจุบันขณะได้อย่างง่ายดาย
ตามพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ใช้การเจริญอานาปานสติตลอดทุกครั้งจนถึงปรินิพพาน แม้แต่ในวันที่พระองค์ตรัสรู้ก็ทรงเจริญอานาปานสติเป็นเบื้องแรก
วิธีการนั่งสมาธิ
วิธีการนั่งสมาธิตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ก็คือ แค่เรานั่งแล้วรู้แค่ว่าหายใจเข้า และหายใจออก โดยไม่ต้องพูด หรือท่องอะไรในใจเลย จะหายใจช้าหรือจะเร็วก็แล้วแล้วบุคคล แต่ให้รู้ชัดแค่ว่า หายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ ก็เพียงพอแล้ว
ถ้าเรามีหลุดไปคิดเรื่องอื่นก็ให้เรากลับมารู้ที่ลมหายใจเราใหม่อีกครั้ง ฝึกการทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แล้วระยะเวลาที่หลุดออกไปคิดจะสั่นลงเรื่อยๆ จนการรับรู้ลมหายใจเราก็จะนานขึ้นแทน
ในช่วงแรกของการนั่งสมาธิเราอาาจะมีหลุดไปคิดนาน หรือบ่อยมาก ทำให้เรารับรู้ลมหายใจน้อยลง ก็อย่าไปคิดมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ ก็ให้เราฝึกวนซ้ำๆ เดียวมันจะดีขึ้นเอง
หากใครอยากลองฝึกนั่งสมาธิผมแนะนำว่าให้เริ่มเลย เพียงวันละ 5 นาทีก็พอแล้ว ลองอ่านที่ผมเคยนั่งสมาธิวันละ 5 นาทีติดต่อกัน 66 วันดู
พระสูตรเต็ม
บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๒๐๔/๒๙๔.
ภิกษุทั้งหลาย ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
เมื่อภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนส่งไปแล้วในการทำเช่นนั้นอยู่ ย่อมละความระลึกและความดำริอันอาศัยเรือนเสียได้.
เพราะละความระลึกและความดำรินั้นได้ จิตของเธอก็ตั้งอยู่ด้วยดี สงบรำงับอยู่ด้วยดี เป็นธรรมเอกผุดมีขึ้น เป็นสมาธิอยู่ในภายในนั่นเทียว.
ภิกษุทั้งหลาย ! แม้อย่างนี้ ภิกษุนั้นก็ชื่อว่า เจริญกายคตาสติ.