เงินส่วนตัว ต้องรู้เรื่อง (เบื้องต้น)

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ผมได้มีโอกาสจัดอบรมความรู้ "เงินส่วนตัว ต้องรู้เรื่อง (เบื้องต้น)" ให้กับทีม Developer และแม่บ้านของออฟฟิศ โดยต้นเรื่องมาจากแม่บ้าน (ขอเรียกว่าคุณป้า) ของพวกเรานั้นเอง

คุณป้าได้ใช้หนี้สินจนหมดแล้ว เลยอยากหาทางเก็บออมเงินให้ดีขึ้นเพื่อไปใช้ที่บ้านนอกตอนไม่ได้ทำงาน และได้ไปปรึกษา CEO ของเรา ทาง CEO ก็ให้คำปรึกษาเล็กน้อยก่อนจะบอกให้ผมช่วยสอนต่อหน่อย ผมก็รับปาก

ตอนแรกผมคิดว่าจะอธิบายปากเปล่าไปคุยกันสองคน แต่แล้วก็คิดได้ว่าไหน ๆ ก็จะต้องสอนแล้ว จัดอบรมให้ทีม Developer ไปเลยด้วยดีกว่า ทุกคนจะได้รู้กันคราวเดียวไปเลย เพราะผมมองเห็นว่า

"ถ้าการเงินดี ชีวิตก็จะดี การงานก็จะดีตาม"

จึงอยากมุ่งมั่นส่งเสริมความรู้ด้านการเงินให้กับพวกเขา เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงสู่ความมั่งคั่งในอนาคต

และในบทความนี้เลยอยากจะเอา Slide ที่ทำพร้อมอธิบายเนื้อหาที่ได้จาก Slide มาเขียนลงให้อ่านกัน เพื่อให้คนที่ไม่รู้ได้ทราบกัน ส่วนคนรู้แล้วก็...อ่านซ้ำไปนะครับ ฮาๆ หรือถ้าผิดพลาดส่วนไหน ชี้แจ้งมาได้เลย

Slide 1-4: เงินส่วนตัว ต้องรู้เรื่อง (เบื้องต้น)

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า "เงินไม่ใช่ทุกอย่าง แต่ทุกอย่างต้องใช้เงิน" ใช่ไหม แล้วพวกเราล่ะ มีการวางแผนการเงินส่วนตัวกันหรือยัง? วันนี้ผมจะมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการเงินส่วนตัวแบบง่ายๆ ที่ทุกคนควรรู้กัน

สมมติว่าน้ำในถัง เปรียบเหมือนเงินเก็บออม รายได้ของเรา แต่หากรอยรั่วนี้เปรียบเหมือนค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจมีมากมายหลายประเภท ซึ่งมันก็จะรอยรั่วที่เรารู้ และไม่รู้ว่ามันมีอยู่ด้วย ต่อให้เราพยายามหาน้ำมาเติม มันก็จะรั่วออกไปตลอด ไม่มีทางทำให้มันเต็มได้ และการที่จะอุดรอยรั่วนั้นได้ ก็คือ ความรู้ทางการเงิน นั้นเอง

จะมีกฎเหล็กพื้นฐานเพื่อป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่อยากให้เข้าใจกันก่อนคือ

ห้ามให้ใครยืมเงิน ห้ามค้ำประกัน

** หากจะให้เงิน ให้คิดว่าจะไม่ได้คืนแน่นอน และต้องไม่กระทบกับสถานะทางการเงินของตัวเอง

Slide 5: พีรามิดทางการเงิน

ความรู้ทางการเงินที่ว่านั้นก็คือ "พีรามิดทางการเงิน" ผมอยากให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจกัน

Slide 6: ฐานแรก "สภาพคล่อง"

แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • วางแผนค่าใช้จ่ายส่วนตัว
  • เงินสำรองฉุกเฉิน
  • โอนย้ายความเสี่ยง

Slide 7-10: วางแผนค่าใช้จ่ายส่วนตัว

เป้าหมายของมันก็คือ

  • รู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของตัวเอง
  • วางแผนค่าใช้จ่ายภายใน 1 ปี

โดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า "งบการเงินบุคคลระยะเวลา 1 ปี" และได้มีภาพตัวอย่างของ Google sheet ที่ผมใช้อยู่ประจำ ซึ่งพอเราจัดงบการเงินส่วนบุคคลออกมาได้แล้ว ก็อยากจะแนะนำส่วนตัวเพิ่มเติมคือ

ยอดผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนรวมกันแล้ว ไม่ควรเกิน 40% ของรายได้

Slide 11-14: เงินสำรองฉุกเฉิน

เป้าหมายของมันก็คือ

  • ใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
  • ควรมี 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

โดยแนะนำการเก็บในรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากดิจิทัล และได้มีการให้ดูว่าดอกเบี้ยเงินฝากออกทรัพย์ กับดอกเบี้ยเงินฝากดิจิทัล ต่างกันขนาดไหน ซึ่งผมจะแนะนำให้ออมใน "เงินฝากดิจิทัล" เพราะมีโอกาสได้ดอกสูงถึง 6%

ทุกคนต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน มัน…โครตตตตตต สำคัญ

Slide 15: โอนย้ายความเสี่ยง

เป้าหมายของมันก็คือ คุ้มครองภาระหนี้สิน และค่ารักษาพยาบาล

วิธีการก็คือ ใช้ประกันประเภทต่างๆ เช่น ประกันสุขภาพ, ชีวิต, อุบัติเหตุ, ไฟไหม้บ้าน และประกันเงินกู้

การซื้อประกันไว้ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว พวกเราควรมีประกันไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ "ไม่คาดฝัน" เพราะความเสี่ยงพวกนี้สามารถดึงเงินออมของเราให้หมดได้ ภายในคืนเดียว... และยังช่วยให้คนข้างหลังเราไม่เดือดร้อนด้วย

Slide 17-20: ฐานสอง "การออม"

แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1. ระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี)

  • เป้าหมาย: ซื้อของ ท่องเที่ยว
  • วิธีการ: กองทุนรวมตลาดเงิน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากดิจิทัล

2. ระยะกลาง (2-5 ปี)

  • เป้าหมาย: ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ แต่งงาน
  • วิธีการ: เงินฝากประจำ กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม

3. ระยะยาว (5 ปีขึ้นไป)

  • เป้าหมาย: เกษียณอายุ การศึกษาบุตร
  • วิธีการ: หุ้นพื้นฐานดีรายตัว ประกันสะสมทรัพย์ ประกันบำนาญ กองทุนรวมตราสารทุน ทองคำ

Slide 21: กองทุนรวม

กองทุนรวมเป็นจุดเริ่มต้นการออมที่ดี เพราะเราสามารถลงทุนเริ่มต้นได้ตั้งแต่ 1 บาท ซึ่งใคร ๆ ก็สามารถซื้อกองทุนรวมได้ แต่กองทุนรวมก็มีหลายความเสี่ยงตั้งแต่ 1-8 สิ่งที่อย่างแนะนำเพิ่มเพื่อให้รู้ได้ว่า เป้าหมายเงินของเราเหมาะสมกับกองทุนประเภทไหน คือ

  • ระยะสั้น: กองทุนเสี่ยงระดับ 1-3
  • ระยะกลาง: กองทุนเสี่ยงระดับ 4-5
  • ระยะยาว: กองทุนเสี่ยงระดับ 6-8

Slide 23: ฐานสาม "ลงทุน"

เป็นการลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง ซึ่งมันจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น แต่เราก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นตามด้วย ซึ่งเราควรทำฐานแรกให้ดีแล้วเราจะสามารถนำส่วนเหลือมาลงทุนต่อยอดได้ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • ลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง
  • เงินเพื่อเกษียณตอนไม่มีแรงทำงาน

Slide 24: ลงทุนเพื่อความมั่งคั่ง

เป้าหมายก็คือ การนำเงินที่เหลือไปต่อยอดลงทุน ให้ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น

วิธีการก็คือ ลงทุนในทองคำ, ที่ดิน, Forex, Cryptocurrency, ของสะสมต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ซึ่งการที่จะป้องกันความเสี่ยงพวกนี้ได้ เราก็จำเป็นต้องลงทุนในความรู้ในสิ่งที่เราจะลงทุนไปเช่นกัน

Slide 25-26: เงินเพื่อเกษียณตอนไม่มีแรงทำงาน

“ที่สุดแห่งความเสียดาย คือ ตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด... ที่สุดแห่งความสลด คือ ใช้เงินหมด แล้วยังไม่ตาย”

ข้อความนี้ผมชอบมาก เพราะมันคือเรื่องจริงที่เราเห็นในข่าวกันเยอะ คนส่วนใหญ่เงินหมดก่อนตาย ทำให้การใช้ชีวิตที่เหลืออยู่รำบากมาก ฉะนั้นพวกเราควรเก็บเงินไว้สำหรับตอนเราไม่มีแรงทำงานกันไว้ตั้งแต่ตอนนี้ เหตุผลก็เพราะ

  • อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยคือประมาณ 80 ปี และมีโอกาสสูงขึ้น เพราะการแพทย์ที่ดีขึ้น คนตายน้อยลง
  • ต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อที่จะทำให้เงินอ่อนค่าลง โดยเฉลี่ยปีละ 3% และค่าใช้จ่ายพื้นฐานก็จะแพงขึ้นตามเช่นกัน
  • "ควรพึ่งพาตนเอง ไม่หวังพึ่งรัฐหรือลูกหลาน" ถ้าเราเตรียมตัวเรื่องการเงินเรามาดี เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครมาก และไม่ทำให้เป็นภาระของคนอื่นมากด้วยเช่นกัน

Slide 27-28: ต้องมีเงินเท่าไรให้พอใช้ตอนเราแก่?

นั้นสิ...แล้วเราต้องมีเงินเท่าไรถึงจะพอใช้ มันมีวิธีคำนวณแบบง่ายคือ

จำนวนเงินที่จะใช้ต่อเดือน * 240 เดือน (20ปี) = จำนวนที่ต้องมีตอนแก่

โดยตามข้อมูลค่าเฉลี่ยทางเงินของประเทศไทย มีตัวเลขแนะนำดังนี้

  • ผู้ชายอยู่ที่ 2.1 - 2.9 ล้านบาท
  • ผู้หญิงอยู่ที่ 2.5 - 3.3 ล้านบาท

สุดท้ายผมอยากจะแนะนำว่า

ต้องทำให้หนี้สินเป็น 0 ให้ได้ ก่อนเกษียณ

สรุป:

สไลด์นี้นำเสนอแนวทางการจัดการเงินส่วนบุคคลอย่างครอบคลุม โดยแบ่งเป็น 3 ฐานหลัก:

  1. สภาพคล่อง: เน้นการวางแผนค่าใช้จ่าย การมีเงินสำรองฉุกเฉิน และการโอนย้ายความเสี่ยง
  2. การออม: แบ่งตามระยะเวลาและเป้าหมาย ตั้งแต่ระยะสั้นถึงระยะยาว
  3. การลงทุน: เพื่อสร้างความมั่งคั่งและเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ

สไลด์ยังเน้นย้ำความสำคัญของการวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ การมีวินัยทางการเงิน และการเตรียมตัวสำหรับอนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัยเกษียณ

อย่าลืมนะครับว่า การวางแผนการเงินที่ดีไม่ได้หมายถึงการประหยัดจนเกินไป แต่เป็นการใช้เงินอย่างฉลาดและมีเป้าหมาย เริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้ แล้วเราจะพบว่าอนาคตทางการเงินของเราสดใสกว่าที่คิด!

สุดท้ายนี้ อย่าลืมกฎเหล็กที่สำคัญคือ "ห้ามให้ใครยืมเงิน ห้ามค้ำประกัน" เพื่อป้องกันปัญหาทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต