วิธีทำปุ๋ยหมักเองง่ายๆ ที่บ้านใครๆ ก็ทำได้
หลังจากได้เข้าไปเก็บความรู้จากกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองใน facebook และได้ลองทำตามดูแล้วพบว่า การทำปุ๋ยหมักเองที่บ้าน เพื่อนำมาใช้กับต้นไม้ของเรานั้นไม่ยากเลย ใครๆ ก็ทำได้
ปุ๋ยหมักคืออะไร
สำหรับบ้างคนที่ยังไม่รู้จักปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักก็คือ
ปุ๋ยที่ได้จากการหมักสารอินทรีย์ให้สลายตัวผุพังตามธรรมชาติ โดยนำสิ่งเหล่านั้นมากองรวมกัน รดน้ำให้ชื้น แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดการย่อยสลายตัวโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ จึงนำไปใช้ปรับปรุงดิน
การทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองนั้นมีหลากหลายวิธีในการทำ ซึ่งแต่ละวิธีจะใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และจำนวนปุ๋ยที่ได้ก็จะเยอะตามด้วย แต่ผมไม่ต้องการเยอะขนาดนั้น ผมเลยเลือกวิธีทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองในเข่ง และใช้ระยะเวลาในการหมักประมาณ 60 วัน ที่สำคัญไม่ส่งกลิ่นเหม็นด้วย
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- เข่งพลาสติกเบอร์ 3 (กว้าง 52 ซม * สูง 39 ซม)
- ถังน้ำเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว ไว้เป็นที่ตรวง
- มูลวัว เพราะหาง่ายสุด หรือมูลสัตว์ชนิดไหนก็ได้
- เศษฟางข้าว หรือใบไม้ หรือเศษผักต่างๆ ที่กินเหลือ
- กระบวยรดน้ำ
วิธีการทำปุ๋ยหมักในเข่ง
ในการทำปุ๋ยหมักในเข่งครั้งนี้ผมจะใช้ มูลวัว และฟางข้าว เป็นวัสดุในการหมัก ซึ่งสัดส่วนในการหมักจะเป็น 4:1 คือ ฟางข้าว 4 และมูลวัว 1 โดยจะใช้ถังน้ำเป็นที่ตรวง (ต่อไปผมขอเรียกถังตรวง) ใครจะใช้อะไรเป็นที่ตรวงปริมาณก็ได้ เช่น ขันน้ำ เป็นต้น แต่ที่สำคัญข้อนี้คือ ห้ามตรวงปริมาณด้วยสายตา ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยวัดเป็นตัวตรวงเสมอ
นำเศษฟางข้าวใส่ในเข่ง
ของผมจะตรวงเศษฟางข้าวด้วยถังตรวงจำนวน 2 ถังใส่ลงในเข่งก่อน หลักการตอนใส่ฟางข้าวในถังตรวงคือใส่แล้วอย่ากดทับฟางข้าวให้แน่นจนเกินไป แล้วพอนำฟางข้าวจากถังตรวงใส่เข่งก็แค่ใส่ลง แล้วกระจายให้ทั่วๆ เข่ง โดยไม่ต้องกดในเข่งให้แน่น เพราะการหมักจะได้มีอากาศไหลเวียนได้
จำไว้ว่าไม่ต้องกดฟางข้าวในเข่งให้เทลงไปเฉยๆ
เท่านี้เราก็จะได้ ชั้นที่หนึ่ง ละ
นำมูลวัวใส่เข่ง
สำหรับคนที่ซื้อมูลวัวมาแล้ว บ้างอันมันมีก้อนขนาดใหญ่ ผมแนะนำให้ทำการบดให้มันเป็นก้อนเล็กๆ ก่อนนำไปใช้เพื่อให้เวลาหมักมันจะย่อยสลายง่ายขึ้น โดยวิธีของผมก็คือใช้ครกหินตำมูลวัวก้อนใหญ่ซะเลย ฮาๆ
จากนั้นตรวงมูลวัวด้วยถังตรวงโดยใส่ไป 1/2 ถังตรวง แล้วค่อยนำไปเทใส่เข่งโดยเทให้ทั่วๆ ก็จะเป็น ชั่นที่สอง ละ
รดน้ำ
เมื่อเราใส่ฟางข้าวชั้นที่หนึ่ง ใส่มูลวัวชั้นที่สอง ต่อมาก็ให้รดน้ำให้ทั่วๆ พอชุ่ม โดยทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเต็มเข่ง
ใส่ฟาง > ใส่มูลวัว > รดน้ำ
ถ้าใช้เข่งขนาดผมก็จะได้ 3 รอบพอดี
สุดท้ายพอเต็ม เราก็รดน้ำเพิ่มอีกเอาให้ทั่วๆ เลย
ในการหมักปุ๋ยเราจำเป็นต้องรดน้ำให้ชุ่ม และทั่วเข่งทุกวัน วันละครั้งจะตอนเวลาไหนก็ได้ และจะวางไว้ในที่ร่ม หรือกลางแจ้งก็ได้ ถ้าวันไหนฝนตกเราก็ยังคงต้องรดน้ำ เพราะว่าน้ำฝนนั้นไม่สามารถไหลลงไปถึงก้นเข่งเราได้
และทุกๆ 10 วันก็ให้เอาไม้ เจาะกองปุ๋ยสัก 6-7 จุด ทั่วๆ ในเข่งของเรา แล้วรดน้ำเติมลงไปในรูนั้นๆ เพราะให้น้ำสามารถเข้าไปยังข้างในกองปุ๋ยได้ทำให้จุลทรีย์ยังคงทำงาน
ให้ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 60 วัน หรือจะนานกว่านี้ก็ได้ตามสะดวก ถ้าเราเปิดกองปุ๋ยขึ้นมาจะพบว่าภายในกองปุ๋ยจะเป็นเนื้อละเอียด หากต้องการนำมาใช้งาน ให้ล้มกองปุ๋ยในเข่งออกมาเทลงพื้นตากแดดไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อให้จุลทรีย์ในกองปุ๋ยสงบลง แล้วค่อยนำไปใช้
ในช่วงระยะเวลา 60 วันถ้ากองปุ๋ยเรายุบลงไปไม่ต้องตกใจ เป็นเรื่องดี นั้นแสดงว่าจุลทรีย์กำลังย่อยกันสนุกสนาน
ข้อควรระวังตอนเทกองปุ๋ย
ให้ใส่ถุงมือที่เป็นยางแล้วค่อยเทกอง เพราะในกองปุ๋ยตอนนี้ของเราจะสัตว์หลากหลายชนิดเกิดขึ้นได้ ผมเคยเจอตะขาบ ก็ให้ระวังไว้ก่อนจะได้ไม่โดนกัด และใครเจอหนอนอ้วนๆ ขาวๆ ก็ให้นำไปให้ไก่กิน หรือทิ้งไปเลย แต่ที่สำคัญสุดเลยเราจะเจอไส้เดือนแน่นอนครับ ซึ่งเป็นการบ่งบอกได้ถึงสภาพปุ๋ยที่ดีของเรา
ส่วนใครไม่มีพื้นที่สำหรับเทกองปุ๋ยแบบผม ก็สามารถนำไปใส่ถุงกระสอบข้าวที่มีรูระบายอากาศ โดยใส่ไว้เกือบเต็มถุงประมาณ 80% ไม่ต้องปิดปากถุง แล้วตากไว้ 2 สัปดาห์ ก็พร้อมใช้งานได้
เพียงแค่นี้เราก็จะมีปุ๋ยหมักใช้กับต้นไม้ และผักสุดรักของเราได้ตลอดแล้ว :)
UPDATE!!!
ใครอ่านแล้วยังไม่เข้าใจเรามีวิดิโอมาให้ดูเลย