[พุทธพจน์] เนื้อที่นอนจมบ่วง แต่ไม่ติดบ่วง

พุทธพจน์บทนี้เป็นบทที่ผมชอบมากที่สุด และได้นำมาเป็นคติพจน์ประจำตัวเลย ด้วยเนื้อความในพระสูตรกล่าวดังนี้

พระสูตรเต็ม

ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณเหล่านี้มี ๕ อย่าง.
๕ อย่าง อย่างไรเล่า ? ๕ อย่าง คือ :-

  • รูปที่เห็นด้วยตา,
  • เสียงที่ฟังด้วยหู,
  • กลิ่นที่ดมด้วยจมูก,
  • รสที่ลิ้มด้วยลิ้น และ
  • โผฏฐัพพะที่สัมผัสด้วยผิวกาย

อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณมี ๕ อย่าง เหล่านี้แล.

ภิกษุทั้งหลาย ! ชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ติดอกติดใจ สยบอยู่ เมาหมกอยู่ ใน
กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว ไม่มองเห็นส่วนที่เป็นโทษไม่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ทำการบริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่;
ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจเถิดว่า เป็นผู้ถึงความพินาศย่อยยับแล้วแต่มารผู้มีบาปต้องการจะทำตามอำเภอใจอย่างใดดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบได้ดังเนื้อป่าที่ติดบ่วงนอนจมอยู่ในกองบ่วง ในลักษณะที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่ามันจะถึงซึ่งความพินาศย่อยยับ เป็นไปตามความประสงค์ของพรานทุกประการ, เมื่อพรานมาถึงเข้า มันจะหนีไปไหน
ไม่พ้นเลย ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! ส่วนชนเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ก็ตาม ไม่ติดใจ ไม่สยบอยู่ ไม่เมาหมกอยู่ในกามคุณ ๕ เหล่านี้แล้ว มองเห็นส่วนที่เป็นโทษอยู่เป็นผู้รู้แจ่มแจ้งในอุบายเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์
บริโภคกามคุณทั้ง ๕ นั้นอยู่; ชนเหล่านั้น อันคนทั้งหลายพึงเข้าใจได้อย่างนี้ว่า เป็นผู้ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของมารผู้มีบาปแต่อย่างใด ดังนี้.

ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนเนื้อป่าตัวที่ไม่ติดบ่วงแม้นอนจมอยู่บนกองบ่วง มันก็เป็นสัตว์ที่ใครๆ พึงเข้าใจได้ว่า เป็นสัตว์ที่ไม่ถึงความพินาศย่อยยับไปตามความประสงค์ของพรานแต่อย่างใด, เมื่อพรานมาถึงเข้ามันจะหลีกหนีไปได้ตามที่ต้องการ ดังนี้, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุทั้งหลาย ! (อีกอย่างหนึ่ง) เปรียบเหมือนเนื้อป่า เที่ยวไปในป่ากว้าง เดินอยู่ก็สง่างาม ยืนอยู่ก็สง่างาม
หมอบอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม. เพราะเหตุไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่าเนื้อป่านั้นยังไม่มา สู่คลองแห่งจักษุของพราน, ข้อนี้ฉันใด;

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
สงัดแล้วจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงซึ่งปฐมฌาณ อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก
แล้วแลอยู่.

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร
ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น.

(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน-ตติยฌาน-จตุตถฌาน-อากาสานัญจายตนะ-วิญญาณัญจายตนะ-
อากิญจัญญายตนะ-เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป, จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ โดยข้อความสืบต่อไปว่า)

ภิกษุทั้งหลาย ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก : ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง
สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่.

อนึ่ง เพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอบ.ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมารไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น, ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก.

ภิกษุนั้นยืนอยู่ก็สง่างาม เดินอยู่ก็สง่างามนั่งอยู่ก็สง่างาม นอนอยู่ก็สง่างาม.
เพราะเหตุไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ภิกษุนั้นไม่ได้มาสู่คลองแห่งอำนาจของมารผู้มีบาป, ดังนี้แล.

จากหนังสือ พุทธวจน ปฐมธรรม
หน้า ๔๕ - ๔๘
มู. ม. ๑๒/๓๓๑-๓๓๓/๓๒๗-๓๒๘.


อธิบายเพิ่ม (ความเห็นส่วนตัว)

พระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่พระศาสดาทรงอุปมาอุปมัยขึ้นมา ดังนี้

  • “บ่วงของพราน”  คือ กามคุณ 5
  • “นายพราน” เป็นชื่อของมาร
  • "ฝูงเนื้อ" นั้น เป็นชื่อของชนเหล่าใด

โดยพระสูตรได้เปรียบว่า ถ้าฝูงเนื้อนั้นเพลิดเพลินในบ่วงของพราน ก็จะโดนนายพรานจับได้ แต่ถ้าฝูงเนื้อนั้นไม่เพลิดเพลินในบ่วงของพราน ถึงอยู่ในบ่วงนั้น ก็จะสามารถหนีจากนายพรานได้

ฉันใดฉันนั้น ถ้าเราเพลิดเพลินใน กามคุณ 5 เมื่อไร เราก็จะหลงกามคุณพวกนี้ไปเรื่อยๆ และสุดท้ายช่องทางในการนำเข้าแห่งอกุศลที่จะบังเกิดขึ้น

แต่ถ้าเราเป็นเนื้อที่มีสติ ไม่เพลิดเพลินใน กามคุณ 5 ต่อให้เราอยู่ในที่ๆ ล้อมรอบด้วยกามคุณ 5 เมื่อมีอกุศลเหล่าใดบังเกิดขึ้นแล้ว จิตจะไม่กลุ้มรุมอยู่ในอกุศลเหล่านั้น

นั้นก็คือถ้าเรามีสติในการดำเนินชีวิตในทางโลกซึ่งก็มีพวกอกุศลเยอะแยะไปหมด เราก็จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างไม่ติด และหลงในอกุศลนั้นๆ

สาธุ